ในช่วงเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกและประเทศเผชิญหน้ากับโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการจับจ่ายหลายอย่างของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจหลายกลุ่มอุตสาหกรรม แต่เมื่อมองลึกลงไปในพฤติกรรมผู้บริโภคกลับพบข้อมูลที่ชวนประหลาดใจว่า “ผู้บริโภคกลุ่มอายุ 20-25 ปี ยังคงซื้อสินค้าประเภท เหล้า-เบียร์ ในปริมาณเท่าเดิม” จากผลการสำรวจเรื่อง “การวิจัยทัศนคติของผู้บริโภคสำหรับการตลาดเพื่อสังคม” บริษัทวิจัยการตลาด Vitamins Consulting & Research จับมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้จัดทำแบบสำรวจออนไลน์เรื่องพฤติกรรมการซื้อและโฆษณาเหล้าบุหรี่ พอตไฟฟ้า ในช่วงโควิด ผ่านออนไลน์ Buzzebees panel ช่วงวันที่ 1 พ.ย. – 19 พ.ย. พ.ศ.2564 จำนวน 400 คน ช่วงอายุ 18-25 ปีทั่วประเทศไทย (กลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น ชาย 51% หญิง 48% เพศทางเลือก 1% เขตพื้นที่ กทม.57% ต่างจังหวัด 43% พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
อายุ 18-19 ปี เป้าหมายหลักของ พอตไฟฟ้า
จากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภควัย 18-25 ปี เป็นเป้าหมายที่ พอตไฟฟ้า ยิงโฆษณาไปหา จนทำให้สัดส่วนความถี่ของการเห็นโฆษณาพอตมีมากถึง 10.30 ครั้งต่อเดือน ส่วนพอตไฟฟ้า 9.48 ครั้งต่อเดือน ขณะที่เครื่องดื่มควบคุมอย่าง เหล้า-เบียร์ แอลกอฮอล์พร้อมดื่ม มีอัตราความถี่อยู่ที่ 9.5 ครั้งต่อเดือน นั่นแปลว่า สินค้าที่มีกฎห้ามโฆษณา กลับใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อสื่อสารที่ “ยิงตรง” ถึงกลุ่มเป้าหมาย จนทำให้เกิดการมองเห็น โดยกลุ่มวัยรุ่นชาย อายุ 18-19 ปี เป็นกลุ่มที่เห็นโฆษณาบุหรี่มากที่สุด แบ่งเป็น บุหรี่ 3.2% พอตไฟฟ้า 28% มีความถี่อยู่ที่ 11.3 ครั้งต่อเดือน ในส่วนนี้มี 69% เห็นโฆษณาทุกวัน หรือ 2-3 ครั้งใน 1 สัปดาห์
ปิด-เปิดเมืองไม่มีผลผู้ชายวัย 20-25 ปี ยังเมาเท่าเดิม
เมื่อถามถึง การซื้อ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 20-25 ปี มีการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภาพรวมมีปริมาณเท่าเดิม ผู้หญิงซื้อน้อยลง รายละเอียดช่องทางการซื้อ ผู้บริโภคในภาพรวมทั้งชายหญิง 58% เคยซื้อเหล้าด้วยช่องทางออนไลน์ 65% ซื้อเบียร์ผ่านช่องออนไลน์นอกจากนี้ ยังมีการซื้อผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอร์รี่ 56% เคยซื้อเหล้าผ่านเดลิเวอรี่ 62% เคยซื้อเบียร์ร้านเดลิเวอร์รี่ ส่วนความถี่ เมื่อเปรียบเทียบก่อนกับหลังโควิด-19 พบว่าผู้บริโภควัย 20-25 ปี ยังซื้อ เหล้า-เบียร์ ในปริมาณเท่าเดิม ส่วนวัยรุ่น 18-19 ปี กลับอาศัยช่องทางใช้ช่องทางเดลิเวอรี่ในการซื้อ เหล้า-เบียร์ ที่ไม่สามารถซื้อได้เอง ขณะที่ช่องทางนี้กลับมีช่องโหว่ที่ไม่ต้องแสดงตัวตน ทำให้มีความถี่ในการซื้อที่ 2.07 ครั้งต่อเดือนสำหรับเหล้า และ 2.42 ครั้ง ในกรณีของเบียร์ซึ่งมากกว่าภาพรวมมาก
บทสรุปต่อผลการสำรวจคนเห็นโฆษณาพอตไฟฟ้ามากขึ้น?
จากผลการสำรวจครั้งนี้ กลับเป็นภาพสะท้อนว่าเมื่อใช้สื่อออนไลน์ สินค้าพวกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ พอตไฟฟ้า สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายเยาวชน ดังนั้น จึงเป็นความรับผิดชอบของนักการตลาด กลุ่มผู้ทรงอิทธิพลออนไลน์ เจ้าของแพลตฟอร์มไปจนถึงตัวผู้บริโภคเอง ที่ต้องมีความรับผิดชอบ ตระหนักถึงการเลือกใช้สื่อ รูปแบบการออกแบบสื่อ ให้มีความเหมาะสม และรู้เท่าทันกลุ่มสินค้าเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกออนไลน์ที่ Algorithm หรือระบบการจัดสรรข้อมูลของเจ้าของแพลตฟอร์ม จะคัดกรองคอนเทนต์ตามความสนใจของผู้ใช้งาน